"บ้านออมเงิน" หรือ "ออมกินดอก" กลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง หลังแชร์ "บ้านออมเงิน Milk Milk" หลอกลงทุนสูญเงินหมุนเวียนรวมไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท แน่นอนว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรก ที่การออมกินดอก หลอกให้คนทุ่มเงินจำนวนมากไปออมได้สำเร็จตามคำเชิญชวน และลูกไม้ในการชวนออมเงินก็แทบไม่ได้ต่างไปจากวงออมกินดอกวงก่อนๆ ที่จบด้วยการถูกเชิดเงินหนี แต่ทำไมกลุ่มคนเหล่านี้ถึงยังทำสำเร็จ และอะไรเป็นชนวนที่ทำให้หลายคนยอมเอาเงินจำนวนไม่น้อยไปวางไว้บนความเสี่ยงมหาศาลเหล่านี้?
โมเดลของ "บ้านออมเงิน" หรือออมกินดอกทั้งหลาย คือการฝากเงินเฉยๆ แบบไม่มีความเสี่ยง แต่จะได้รับผลตอบแทนสูงมาก สม่ำเสมอ และได้เร็วตั้งแต่ครั้งแรกที่ลงทุน พูดง่ายๆ คือยิ่งออมมากยิ่งได้ดอกเบี้ย หรือผลตอบแทนมาก เรียกได้ว่า เงินต่อเงิน แค่นั่งอยู่เฉยๆ มีรายได้
การชักจูงในลักษณะนี้ ทำให้มีคนหลงเชื่อเพื่อลองลงทุน เมื่อได้รับผลตอบแทนสมใจช่วงแรกๆ จนต้องบอกต่อ หรือเชิญชวนให้คนรอบตัวมาร่วมออมเงิน
1. ผลตอบแทนสูงกว่าความเป็นจริง
คำชักชวนหลากหลายรูปแบบ ที่มีใจความสำคัญสื่อถึงการสร้างผลตอบแทนที่ได้มาง่ายๆ ยิ่งลงทุนเยอะ ยิ่งมีโอกาสได้ผลตอบแทนสูง เป็นจุดสังเกตหลักที่ต้องเอะใจทันทีที่ได้รับคำเชิญชวนเหล่านี้ เพราะการลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนสูงลิบในระยะเวลาสั้นๆ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากมาก หรือเรียกว่าเป็นไปไม่ได้เลยก็คงไม่ผิด
สถิติผลตอบแทนจาก "การออม" และ "ลงทุน" ที่เป็นไปได้ (ปี 2020)
- ออมทรัพย์ปกติ 0.25% ต่อปี
- ฝากประจำ 1-2% ต่อปี
- กองทุนรวม 1-12% ต่อปี
- หุ้น ตลาดหุ้นไทยที่ซื้อแล้วถือลงทุนมาเป็นเวลา 10 ปี จะได้รับผลตอบแทนในช่วงตั้งแต่ -3.24% ถึง +18.63% ต่อปี
ดร.พีรพัฒน์ ฝอยทอง ทนายความและที่ปรึกษากฎหมาย/นักวางแผนการเงินส่วนบุคคล ได้อธิบายถึงการออมกินดอก ไว้ในเฟซบุ๊คส่วนตัว พร้อมบอกเหตุผลที่ฟันธงว่าการออมกินดอกตามภาพที่ปรากฏเป็นแชร์ลูกโซ่ เนื่องจากมีการอ้างว่าออม 300 บาท 4 วัน จะได้เงิน 400 บาท หมายความว่าได้ กำไร 100 บาท หรือคิดเป็น 33.33% ใน 4 วัน ฉะนั้นถ้าคิดเป็น 1 ปีก็กำไร 3,041.36% ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้ในมิติของการลงทุน
2. เชียร์ให้เงินเยอะ ไม่มีพูดถึงความเสี่ยง
"การลงทุนมีความเสี่ยงผู้ลงทุนควรศึกษาให้เข้าใจก่อนตัดสินใจลงทุน"
คำเตือนที่ต้องหยิบขึ้นมาเตือนตัวเองทุกครั้งเมื่อต้องลงทุนในบางสิ่งบางอย่างเสมอ เพราะเมื่อขึ้นชื่อว่าการ "ลงทุน" แล้วก็จะได้รับ "ความเสี่ยง" ตามมา
ความเสี่ยงในการลงทุนมีหลายระดับ ขึ้นอยู่กับลักษณะสินทรัพย์ที่ลงทุน ยิ่งความเสี่ยงมาก ยิ่งมีโอกาสได้รับผลตอบแทนและขาดทุนสูง หรือที่เรียกว่า "High risk High Return" ก่อนการลงทุนจึงมีกฎหมายกำหนดให้ทำแบบประเมินความเสี่ยงเบื้องต้นเพื่อให้รู้ว่า ทรัพย์สินที่เรากำลังจะลงทุนมีโอกาสขาดทุนอยู่เท่าไร ผู้ลงทุนรับความเสี่ยงได้หรือไม่
ฉะนั้น คำเชิญชวนลงทุน หรือทำธุรกิจใดๆ ที่จะนำมาซึ่งผลกำไรสูงๆ แบบไร้ความเสี่ยงหรือเสี่ยงต่ำแบบไม่สอดคล้องกับผลตอบแทน จึงเป็นจุดสังเกตสำคัญที่กำลังบ่งบอกว่า คุณกำลังต้องเผชิญกับความเสี่ยงมหาศาล ที่มีโอกาสสูญเงินทั้งหมดเข้าแล้ว
3. เน้นหาเครือข่าย และยิ่งชวนคนมาลงทุนได้ยิ่งได้เงินเยอะ
อีกหนึ่งจุดสังเกต ซึ่งเป็นกลวิธีที่กลุ่มมิจฉาชีพนำมาใช้อยู่เสมอ คือการชักชวนให้หาคนมาร่วมลงทุนเยอะๆ โดยมีแรงจูงใจคือ ใครที่สามารถหาคนมาร่วมลงทุนได้ จะให้ผลตอบแทนเป็นเงิน
วิธีนี้อาจไม่ใช่เรื่องกระจายความรวย แต่เป็นเพิ่มสภาพคล่องให้ขบวนการ เพื่อนำเงินไปหมุนเวียนเป็นผลตอบแทนให้สมาชิกในช่วงแรกๆ ก่อนปิดโครงการ หรือหนีหายไปอย่างไร้ร่องรอยเมื่อเงินตึงมือ
ส่วนใหญ่กลโกงนี้มักจะแฝงมากับการ "ชักชวนทำธุรกิจ" ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งไม่ต่างจากแชร์ลูกโซ่สุดคลาสิกที่มีมาทุกยุคสมัย และก็ยังไม่มีท่าทีที่จะหมดไปในยุคนี้ เช่น ร่วมลงทุนทำผลิตภัณฑ์การันตีผลตอบแทน การสมัครเป็นสมาชิกเครือข่ายธุรกิจที่สามารถสร้าง Passive Income ได้แบบไม่ต้องลงมือทำอะไร แค่ใช้เงินร่วมลงทุน ฯลฯ
อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่าการชวนทำธุรกิจจะเป็นแชร์ลูกโซ่ทั้งหมด เพราะมีธุรกิจที่เป็นธุรกิจจริงๆ แต่มีลักษณะเป็นเครือข่ายคล้ายกับแชร์ลูกโซ่ คือ ธุรกิจขายตรง ซึ่งธุรกิจประเภทนี้มักจะมีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง และสามารถตรวจสอบได้ผ่าน
4. หว่านล้อม กดดันให้รีบตัดสินใจ
อีกหนึ่งเทคนิคทางจิตวิทยา ที่มักตามมากับผลตอบแทนสูงลิบ คือการพยายามหว่านล้อมให้รีบลงทุนเพื่อลดโอกาสในการไตร่ตรอง หรือตรวจสอบข้อมูล
เช่น เสนอว่าเป็นสิทธิพิเศษเฉพาะคุณเท่านั้น มีแค่วันนี้วันเดียว ถ้าปฏิเสธแล้วจะไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้อีก ฯลฯ หากพบการเชิญชวนที่เร่งให้รีบตัดสินใจ ไม่เปิดโอกาสให้ตรวจสอบข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา สันนิษฐานไว้ก่อนว่าการลงทุนนี้อาจไม่โปร่งใส
5. อ้างว่ามีคนมีชื่อเสียงร่วมลงทุน
ความน่าเชื่อถือของการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ หรือผลตอบแทนที่จะได้รับจากการลงทุน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้ที่มาร่วมลงทุน แต่ขึ้นอยู่กับรายละเอียดการลงทุน ว่าการลงทุนนั้นมีการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใด ความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน และมีแนวโน้มสร้างผลตอบแทนได้จริงตามที่มีการกล่าวอ้างไว้หรือไม่
ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องตรวจสอบอย่างละเอียดรอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน ดังนั้น การชูจุดเด่นของการลงทุนโดยอ้างว่ามีคนมีชื่อเสียงเป็นแม่ข่าย หรือมีคนดังร่วมลงทุนจึงสันนิษฐานได้ว่าการลงทุนนี้อาจไม่ชอบมาพากล
6. ตรวจสอบไม่ได้ ไม่มีหน่วยงานรองรับ
"การตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานที่กำกับดูแล" คือการตรวจสอบขั้นพื้นฐานที่ทำให้สามารถรู้ได้ว่า สิ่งที่กำลังจะลงทุนมีที่มาที่ไป เชื่อถือได้ ไม่ใช่มีเพียงการกล่าวอ้าง
โดยหากมีการแอบอ้างว่าเป็นธุรกิจขายตรง จะสามารถตรวจสอบธุรกิจขายตรงที่มีการขึ้นทะเบียนได้จาก
แม้รูปแบบแชร์ลูกโซ่ทุกวันนี้ จะมีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงจากปีก่อนๆ บ้าง แต่ยังคงมีเป้าหมายเดิมคือ "หลอกลวง" โดยอาศัย "ความโลภ" หรือ "ความไม่รู้" เป็นเครื่องมือ ดังนั้นจึงควรติดตามกลโกงของเหล่ามิจฉาชีพให้รู้เท่าทันอยู่เสมอ ที่สำคัญคือก่อนลงทุน หรือใช้เงินเพื่อสร้างผลตอบแทนรูปแบบใดก็ตาม อย่าลืมไตร่ตรองอย่างรอบคอบ และพึงระลึกเสมอว่าไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ ขนาดนั้น
แหล่งที่มา : Link