ที่มาของสภาวะเงินเฟ้อนั้นเกิดขึ้นจาก 2 ปัจจัยหลัก ๆ ด้วยกัน ได้แก่
1. ต้นทุนสินค้าเพิ่ม การที่ต้นทุนสินค้าเพิ่ม ก็จะทำให้ผู้ผลิตต้องปรับราคาสินค้าขึ้น ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น อาจจะเป็นเพราะปัจจัยหลาย ๆ อย่าง เช่น การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงาน การเกิดวิกฤตการณ์ทางธรรมชาติ หรือการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน เป็นต้น ทั้งนี้ต้นทุนการผลิตคือสิ่งที่ใช้พิจารณาการกำหนดราคาสินค้าและบริการ ถ้าต้นทุนเพิ่มขึ้นไม่ว่าจากค่าแรงที่เพิ่มขึ้น หรือราคาวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น ก็อาจจะทำให้ราคาสินค้าต้องเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งเมื่อราคาสินค้าสูงขึ้น คุณก็ต้องใช้เงินมากกว่าเดิม ทำให้ปริมาณเงินที่ไหลเข้าสู่ตลาดมากขึ้นค่ะ
2. ความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น คือการมีความต้องการซื้อมากขึ้น แต่ปริมาณของสินค้าไม่พอต่อความต้องการซื้อทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น การเพิ่มขึ้นของความต้องการสินค้าและบริการอาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น การเปลี่ยนแปลงของค่าเงิน การดำเนินนโยบายการคลังของภาครัฐบาล ที่เห็นได้ชัดเจนคือนโยบาย SML, กองทุนหมู่บ้าน ที่อัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจ ทำให้ชาวบ้านมีเงิน ทำให้เกิดการใช้จ่ายในการบริโภคมากขึ้น ทำให้ความต้องการสินค้าเพิ่มมากขึ้นค่ะ
ทั้ง 2 ปัจจัยที่กล่าวมานั้น ต่างก็เป็นสาเหตุผลักดันให้เกิดเงินเฟ้อทั้งสิ้น ทำให้ส่งผลต่อภาคการผลิต เมื่อสินค้าราคาดีขึ้น ก็จะมีคนเร่งผลิตสินค้าออกมาจำหน่าย ทำให้ต้องจ่ายค่าแรงในรูปของค่าล่วงเวลา ก็จะทำให้รายได้ของพนักงานในบริษัทเพิ่มขึ้นอีก ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะหมุนเป็นวัฏจักร เมื่อถึงจุด ๆ หนึ่งที่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นเรื่อย ๆ ราคาสินค้าก็สูงขึ้นจนทำให้เกิดยุคข้าวยากหมากแพงนั่นเอง
สภาวะเงินเฟ้อนั้นมีผลกระทบต่อพวกเราทุกคน ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบทางตรงหรือทางอ้อม เช่น ผลกระทบต่อความต้องการถือเงินส่วนบุคคล โดยภาวะเงินเฟ้อจะทำให้ค่าของเงินลดลง เพราะเมื่อราคาสินค้าแพงขึ้น แต่เงินเท่าเดิม ก็จะทำให้ซื้อของได้น้อยลง ค่าของเงินก็จะยิ่งต่ำลงค่ะ
สำหรับในส่วนของผลกระทบที่มีต่อการกระจายรายได้ เมื่อเกิดเงินเฟ้อก็จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในการกระจายรายได้ของบุคคล เช่น ผู้มีรายได้เป็นจำนวนเงินคงที่ตายตัวหรือรายได้ประจำจะเสียเปรียบ เพราะค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จะสูงขึ้นเนื่องจากสินค้าแพงขึ้น แต่รายได้ที่เป็นตัวเงินยังคงเดิม หรือเพิ่มขึ้นน้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อ เช่น ข้าราชการ, ผู้มีรายได้จากบำนาญ เป็นต้น ในขณะที่ผู้มีรายได้จากกำไร หรือมีรายได้เป็นตัวเงินที่เปลี่ยนแปลงได้ง่าย เช่น พ่อค้า, นักธุรกิจ มักจะได้ประโยชน์จากสภาวะเงินเฟ้อ เพราะสามารถขึ้นราคาสินค้าให้สูงขึ้นตามต้นทุนการผลิต หรืออาจจะขึ้นราคาไปมากกว่าต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ทำให้ได้กำไรมากขึ้นนั่นเอง
ด้านผู้ถือทรัพย์สินที่เป็นตัวเงินแน่นอน เช่น เงินสด เงินฝากประจำ หุ้นกู้ จะเสียเปรียบค่ะ เพราะเงินลดค่าลงในขณะที่ผู้ถือทรัพย์สินที่มีราคาไม่แน่นอนก็มักจะได้เปรียบ เพราะราคาของทรัพย์สินมักจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ที่ดิน อาคารบ้านเรือน เครื่องมือเครื่องจักร เป็นต้น คุณผู้อ่านจะเห็นได้ว่าภาวะเงินเฟ้อจะทำให้การกระจายรายได้เป็นไปอย่างไม่ยุติธรรมมากขึ้น เพราะคนรวยจะยิ่งรวยขึ้น เช่น พ่อค้า นักธุรกิจ ผู้ผลิต และเจ้าของกิจการ
ในขณะเดียวกัน คนจนก็จะยิ่งจนมากขึ้น เช่น ลูกจ้าง, พนักงานประจำ, ข้าราชการ เป็นต้น ซึ่งถ้าหากผู้มีรายได้ประจำเหล่านี้ได้รับความเดือดร้อนเพราะค่าครองชีพสูง ก็อาจจะดิ้นรนเรียกร้องค่าแรงงานหรือเงินเดือนให้สูงขึ้น ซึ่งถ้าทำได้สำเร็จ นายจ้างก็จะต้องจ่ายค่าแรงงานเพิ่มขึ้น ต้นทุนการผลิตก็จะสูงขึ้นไปอีก ทำให้ต้องตั้งราคาสินค้าสูงขึ้นไปกว่าเดิม ภาวะเงินเฟ้อก็จะแรงยิ่งขึ้น และมนุษย์เงินเดือนเองก็จะไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเดือดร้อน จากภาวะเงินเฟ้อได้นั่นเองค่ะ
อย่างไรก็ตาม จริง ๆ แล้วสภาวะเงินเฟ้อ นั้นเกิดขึ้นเป็นตามกลไกทางการตลาดและภาวะของสภาพคล่องทางเศรษฐกิจเป็นหลักนะคะ ดังนั้นการเพิ่มราคาของสินค้าจะต้องปรับขึ้นพร้อมกันทั้งระบบเศรษฐกิจ แต่ถ้าขึ้นเพียงอย่างเดียวหรือเพียงสองสามอย่างจะไม่ถือว่าเป็นเงินเฟ้อค่ะ
บทความโดย: https://www.moneyguru.co.th