บนโลกกลมๆ ใบนี้เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในซีกโลกหนึ่งก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมส่งผลกระทบไปถึงอีกซีกโลกหนึ่งด้วย เพราะเทคโนโลยีอันทันสมัยในปัจจุบันที่เชื่อมต่อโลกทั้งใบเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้การติดต่อระหว่างกันไม่ใช่เรื่องยากเย็นอีกต่อไป เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถขยายตลาดออกไปทำธุรกิจค้าขายกับต่างประเทศจนประสบความสำเร็จได้มากมาย ดังนั้นความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจโลกจึงส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของเอสเอ็มอีอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่ทำธุรกิจนำเข้าและส่งออก เนื่องจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกนั้นมีผลโดยตรงต่อทิศทางค่าเงินบาทของไทย ซึ่งเป็นต้นทุนของธุรกิจเช่นกัน
ทุกคนคงเคยได้ยินคำว่า เงินบาทแข็งค่าและอ่อนค่ามาบ้างแล้ว แต่บางคนอาจยังไม่รู้ว่าความหมาย คำว่าเงินบาทแข็งค่า หมายถึงการที่เราสามารถใช้เงินบาทไปซื้อเงินสกุลอื่นได้ในอัตราที่ถูกลงกว่าเดิม เช่น ปกติอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 35.0 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ถ้าอัตราแลกเปลี่ยน เปลี่ยนเป็น 34.9 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ นั่นแสดงว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น เพราะใช้เงินเพียง 34.9 บาทก็ซื้อได้ 1 ดอลลาร์แล้ว ซึ่งถูกกว่าอัตราแลกเปลี่ยนเดิม 10 สตางค์ ส่วนเงินบาทอ่อนค่าก็หมายถึง การที่เราต้องใช้เงินบาทไปซื้อเงินสกุลอื่นในราคาที่แพงขึ้น เช่น ปกติอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 35.0 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ หากเปลี่ยนเป็น 35.2 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ นั่นแสดงว่าเงินบาทอ่อนค่าลง เพราะต้องใช้เงิน 35.2 บาท ซึ่งแพงกว่าเดิม 20 สตางค์ถึงจะได้เงินมา 1 ดอลลาร์
การจับจังหวะการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนและการเลือกใช้เครื่องมือทางการเงินมาช่วยบริหารความเสี่ยงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีควรทำความรู้จักเอาไว้ เพราะแนวโน้มของค่าเงินนั้นจะไม่เป็นทิศทางเดียวนานๆ จะมีบางช่วงที่อ่อนและบางช่วงที่แข็งสลับกันไปขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ อย่างเช่น ทิศทางเศรษฐกิจ เราจึงขอแนะนำ 3 ตัวช่วยให้ผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออก เลือกใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์ของธุรกิจตัวเอง ดังนี้
1. การซื้อหรือขายเงินสกุลต่างประเทศล่วงหน้า (Forward Contract) คือสัญญาซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า โดยมีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่เอาไว้ล่วงหน้าเลยตั้งแต่วันที่ทำสัญญา ดังนั้นเมื่อครบกำหนดสัญญาไม่ว่าอัตราแลกเปลี่ยนจะเป็นอย่างไร คุณก็ไม่ต้องมานั่งลุ้นตัวโก่ง นอกจากนี้ยังทำให้คุณสามารถบริหารจัดการธุรกิจได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะคุณรู้ต้นทุนเงินบาทที่คุณจะต้องจ่ายหรือได้รับแล้วนั่นเอง
2. การซื้อสิทธิ์ที่จะซื้อหรือขายเงินสกุลต่างประเทศล่วงหน้า (Option Contract) คือสัญญาที่ธนาคารให้สิทธิ์ธุรกิจในการซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า โดยมีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่เอาไว้ล่วงหน้าเลยตั้งแต่วันที่ทำสัญญาเหมือนกับ Forward Contract แต่ต่างกันที่เมื่อถึงกำหนดสัญญาธุรกิจสามารถเลือกได้ว่าจะใช้สิทธิ์อัตราแลกเปลี่ยนตามสัญญาหรือไม่ เหมือนเป็นการซื้อความสบายใจเพราะเราไม่สามารถคาดการณ์อัตราแลกเปลี่ยนได้ ถ้าในระหว่างสัญญา อัตราแลกเปลี่ยนในตลาดมีเรตดีกว่าที่คุณทำสัญญาไว้ คุณก็สามารถเลือกที่จะไม่ใช้สิทธิ์อัตราแลกเปลี่ยนตามสัญญาได้ ซึ่งธุรกิจจะเสียแค่เพียงค่าธรรมเนียมไม่มากนัก แต่ไม่ต้องเสียโอกาสในการทำกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน
3. การฝากเงินตราต่างประเทศไว้ในประเทศไทย (Foreign Currency Deposit : FCD) คือการเปิดบัญชีเพื่อฝากเงินเป็นสกุลเงินต่างประเทศไปเลย แทนที่จะนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาแล้วรีบแลกกลับมาเป็นเงินบาททันที ซึ่งอาจทำให้ขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนได้ โดยธุรกิจสามารถฝากเงินต่างประเทศไว้ก่อน เมื่อทิศทางค่าเงินเป็นไปในทางที่เราได้เปรียบก็ค่อยถอนออกมาเป็นเงินบาท สำหรับธุรกิจนำเข้าอาจจะซื้อเงินสกุลต่างประเทศเก็บเอาไว้ในยามที่ค่าเงินบาทแข็ง เพื่อให้ต้นทุนในการสั่งซื้อสินค้าต่ำลงได้เช่นกัน
โดยทั่วไปแล้วเราจะไม่เลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่งไปทั้ง 100% เพราะกลยุทธ์เหล่านี้เป็นการคาดการณ์เพื่อป้องกันและบรรเทาความเสียหายจากความผันผวนของค่าเงิน แต่ไม่อาจรับประกันเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้ทั้งหมด ดังนั้นเอสเอ็มอีจึงควรกระจายความเสี่ยงด้วยการเฉลี่ยไปตามความเหมาะสม เช่น คุณทำธุรกิจนำเข้า และคาดการณ์ได้ว่าในอีก 3 เดือนข้างหน้าแนวโน้มเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นอย่างแน่นอน นั่นแปลว่าเป็นผลดีกับธุรกิจคุณ เพราะเมื่อแปลงเป็นเงินบาทแล้วคุณจะจ่ายเงินให้คู่ค้าน้อยลง คุณอาจจะไม่ต้องประกันความเสี่ยงอะไรเลย แต่หากคุณไม่มั่นใจขนาดนั้น คุณอาจจะเลือกป้องกันความเสี่ยงด้วย Forward Contract ไว้สัก 50% แต่ถ้าหากคุณทำธุรกิจส่งออก การที่เงินบาทแข็งขึ้นนั้นไม่ส่งผลดีต่อคุณแน่ๆ เพราะแปลงเป็นเงินบาทแล้วคุณจะได้รับเงินค่าสินค้าน้อยลง ในกรณีนี้คุณควรเลือกกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อมาป้องกันความเสี่ยง เป็นต้น
บทความโดย: https://www.kasikornbank.com