อัตราส่วน PE หรืออัตราส่วน ราคาต่อกำไร ใช้วัดความถูกแพงของหุ้นในเชิงเปรียบเทียบ เหมือนการมองว่า กำไร 1 บาท ใช้เงินจ่ายซื้อเท่าไร ถ้าบริษัทเหมือนกันทุกประการหุ้นที่ PE ต่ำกว่าจะมีราคาหุ้นถูกว่าโดยเปรียบเทียบ
ค่า PE ที่เห็นใน factsheet เป็นค่าที่เรียกว่า trailing PE หรือ PE ปัจจุบัน การคำนวณมาจาก ราคาสิ้นวัน / กำไรย้อนหลัง 4 ไตรมาศ (1ปี) ในการวิเคราะห์ว่าตอนนี้ถูกหรือแพงไปอย่างไร สามารถแบ่งเป็นช่วงๆสูง กลางๆ และต่ำได้ดังนี้
หุ้นที่ PE สูงๆ เกิน 20 เท่าขึ้นไป แสดงว่าตลาดให้ความคาดหวังกับกำไรในอนาคตค่อนข้างเยอะ หน้าที่ของนักลงทุนคือต้องไปวิเคราะห์ว่าบริษัทยังสามารถเติบโตอย่างต่อเนื่องได้หรือไม่ ดูจากอุตสาหกรรมที่อยู่มีแนวโน้มอย่างไร กำลังเติบโต อิ่มตัว หรือถดถอย และไปตามข่าวว่าในอนาคตกำลังมีโครงการลงทุนอะไรที่ทำให้หุ้นเติบโตได้บ้าง
เมื่อซื้อแพงเพราะคาดหวังการเติบโตแล้วสิ่งที่ต้องระวังคือ การเติบโตที่เราหวังควรเป็นการเติบโตระยาวไม่ใช่กำไรพิเศษที่มาแค่ครั้งเดียว ต่อมาคือควรมองการเติบโตของ EPS หรือกำไรต่อหุ้นมากกว่ากำไรสุทธิ เพราะหลายบริษัทกำไรเติบโตต่อเนื่องแต่มีเพิ่มทุนทุกปีทำให้จำนวนหุ้นเพิ่มสุดท้ายแล้ว กำไรสุทธิโตไม่ทัน EPS ที่เพิ่มทำให้ EPS ลดลง มูลค่าหุ้นลดลง และสุดท้ายที่ต้องระวังคือ อย่าหวังการเติบโตมากเกินไป บางคนมองบริษัทจะเติบโต 40% ก็ยอมซื้อแพง PE 50 เท่าก็ซื้อถ้ากำไรจริงๆโตไม่ทัน แทนที่จะได้กำไรก็อาจกลายเป็นขาดทุนแทนก็ได้
แต่ถ้า PE ต่ำมากๆ ก็ต้องระวัง กลุ่มแรกคือหุ้นที่มีกำไรพิเศษที่ไม่ได้มาจากการดำเนินงาน เช่นกำไรจากการขายสินทรัพย์ กำไรจากการต่อรองราคาซื้อกิจการ กำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ ที่ต้องระวังกลุ่มต่อมาคือหุ้นวงจรก็ต้องระวังเพราะกำไรจะสูงมากในช่วงสูงสุดของรอบอุตสาหกรรม เมื่อกำไรสูงก็จะทำให้ค่า PE ต่ำลง การดูว่าอยู่ในช่วงสูงสุดหรือยังดูจากอัตรากำไรขั้นต้น ถ้าอัตรากำไรขั้นต้นสูงกว่าปีอื่นๆ มากๆ มีแนวโน้มว่าจะเป็นช่วงสูงสุดของอุตสาหกรรม และกลุ่มที่ต้องระวังกลุ่มสุดท้ายคือบริษัทที่มีแนวโน้มกำไรลดลง ถ้าไม่เข้าเงื่อนไขก็แสดงว่า PE ของบริษัทที่เรากำลังจะซื้อไม่แพงเกินไป ถ้าไปดูงบแล้วผลประกอบการดีกำไรพอใช้ได้ ถึงซื้อไปแล้วติดดอยก็ยังมีปันผลกินไม่อดตาย
ในการตัดสินใจลงทุน ในระยะยาวแล้วถ้าเราลงทุนในบริษัทที่เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง มูลค่ากิจการจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆตามการเติบโตของกำไร แสดงว่าในระยะยาวแล้วผลตอบแทนจากส่วนต่างราคาจะเท่ากับการเติบโตของบริษัท เราสามารถประยุกต์ใช้ PE ในการลงทุนได้ โดยอาจแบ่ง PE เป็นช่วง คือช่วงลงทุน กับจุดสูงสุดเราจะเล่นไม่เกินการเติบโต PEG ถ้าราคาหุ้นอยู่ในช่วงที่เราคิดไว้ก็สามารถซื้อลงทุนได้ไม่ถูกไม่แพง ราคาหุ้นตกมามากถึงจุดที่ทำให้ PE ต่ำกว่า PE ที่เราคาดหวังไว้ (ราคาลงแต่ E เท่าเดิมทำให้ PE ลด) ก็ซื้อเยอะหน่อยเพราะมันถูก และถือไปเรื่อยๆ แต่ถ้าวันดีคืนดี ตลาดเล่นราคาหุ้นกันจน PE อยู่สูงมากๆ เกิน PEG เยอะ แปลว่าราคาหุ้นค่อนข้างแพงเพราะกำไรเติบโตไม่ทันความคาดหวัง เราก็พิจารณาขายบางส่วนออกได้
Fact sheet เป็นสรุปข้อมูลที่ดีและฟรี ขอเพียงเราอ่านให้เป็น จะช่วยลดความเสี่ยงให้นักลงทุนได้ เพราะเราสามารถบอกได้ว่าบริษัทที่เราสนใจลงทุน ดีหรือไม่ดีอย่างไร ราคาถูกหรือแพงไปหรือไม่ ถ้าบริษัทที่เราสนใจเป็นบริษัทที่คุณภาพบริษัทดี ราคาไม่แพงเกินไปถือไปยาวๆ ไม่ขาดทุนแน่ครับ
บทความโดย : www.finnomena.com