“อนาคตอยู่ในมือคนหนุ่มสาว” เป็นคำพูดที่เป็นจริงทุกยุคทุกสมัย เพราะคนหนุ่มสาวนี้แหละที่เป็นหัวหอก เป็นมดงานคอยสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และพาโลกเราให้ก้าวไปข้างหน้า
แต่ในขณะนี้ หนุ่มๆสาวๆของเรากำลังเผชิญกับปัญหาทาง “การเงิน”
หนุ่มสาววัยทำงานในปัจจุบัน คือ กลุ่มที่ได้รับการขนานนามว่า “มิลเลนเนี่ยล” (Millennial) เป็นกลุ่มคนที่เกิดระหว่าง พ.ศ. 2524 ถึง พ.ศ. 2539 ปัจจุบันอยู่ในวัยทำงานมีอายุราว 20 ถึง 40 ปี และกำลังดิ้นรนอยู่กับโลกที่สิ่งต่างๆเปลี่ยนไปจากยุคคุณพ่อคุณแม่อย่างมหาศาล
“เทคแซฟวี่” (Tech-Savvy) คือ คำจำกัดความสั้นๆของพวกมิลเลนเนี่ยล หมายถึงพวกที่มีความไวต่อเทคโนโลยี เรียนรู้เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆที่ทันสมัยได้อย่างรวดเร็ว พร้อมเปิดใจรับต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งที่หลีกเลี่ยงได้ และไม่ได้
มิลเลนเนี่ยลอยู่ในโลกใบเดิมที่มีขนาดเล็กลง ผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกเชื่อมต่อถึงกันได้ด้วยปลายนิ้ว ข้อมูลข่าวสารจากทุกแห่งส่งตรงมาถึงโทรศัพท์ของชาวมิลเลนเนี่ยลทุกเครื่อง นับเป็นโอกาสอันมหาศาลที่ทำให้เราได้เห็นความสำเร็จชั่วข้ามคืนเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด ธุรกิจใหม่ๆเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องมีสินทรัพย์ใดๆเป็นหลักแหล่ง และใครๆก็มีโอกาสฝันอยากจะ “เปลี่ยนโลก” กันได้ทั้งนั้น
แต่ในอีกทางหนึ่ง มิลเลนเนี่ยลก็ต้องพบเจอกับอุปสรรคต่างๆมากมาย ทั้งความคาดหวังจากสังคม การแข่งขันที่รุนแรง หรือแม้แต่ปัญหาทาง “การเงิน” ในระดับโลก ซึ่งไม่เคยมีคนยุคไหนประสบมาก่อน
แม้ว่าสงครามจะยังเป็นเรื่องไกลตัว สภาวะอดอยากก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ในสังคมที่มีสินค้าหยิบยื่นมาให้เลือกเป็นร้อยๆแบรนด์ แต่ในบทความนี้ พี่ทุยจะพาไปวิเคราะห์ความลำบากทางการเงิน 7 อย่าง ที่โลกยุคก่อนมิลเลนเนี่ยลไม่เคยเจอ แต่มิลเลนเนี่ยลกำลังต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน
ไม่ใช่เพียงแค่ในประเทศไทยเท่านั้น ที่หนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) สูงเป็นประวัติกาล ในประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกาก็เช่นเดียวกัน จำนวนผู้กู้ และปริมาณเงินกู้เพิ่มสูงขึ้นพร้อมๆกัน แต่ปริมาณเงินที่ได้รับคืนจากการชำระหนี้กลับลดลงเรื่อยๆ
สำหรับ กยศ. ของประเทศไทยนั้น ได้ให้เงินกู้ยืมสนับสนุนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 ปัจจุบันมีผู้กู้ยืมกว่า 4 ล้านราย และมียอดเงินกู้ยืมไปแล้วทั้งหมดเฉียด 5 แสนล้านบาท แต่จำนวนผู้ใช้คืนเงินทุนกู้ยืมมีเพียง 1.6 ล้านราย คิดเป็น 62% ของปริมาณเงินกู้ทั้งหมด!!!
หนี้ กยศ. ส่งผลร้ายแรง และฝังรากลึกกว่าที่เราเห็น ทั้งค่าครองชีพโดยรวมที่สูงขึ้น วิธีคิดของคนรุ่นใหม่ ที่เห็นการชำระหนี้เป็นเรื่องรอง แต่ยินดีจะนำเงินได้ไปจับจ่ายใช้สอยเพื่อความต้องการส่วนตัวก่อน และการละเลยต่อความรับผิดชอบที่พึงมีต่อคนรุ่นหลัง
นอกจากนี้ ปริมาณหนี้ กยศ. ที่สูงขึ้น และการชำระคืนเงินกู้ที่ลดลงยังส่งผลต่อนโยบายการจัดสรรเงินเพื่อประชาชนในอนาคตของรัฐบาลอีกด้วย
แม้ว่าโดยเฉลี่ยมิลเลนเนี่ยลจะมีรายรับสูงกว่าคนยุคก่อน แต่รายได้ที่เพิ่มขึ้นกลับตามอัตราเงินเฟ้อไม่ทัน (เช่น รายได้อาจจะเพิ่มขึ้นสองเท่า ในขณะที่ของแพงขึ้นสามเท่า) และมิลเลนเนี่ยลก็ไม่เก่งในเรื่องการเก็บหอมรอมริบเสียด้วย อาจเพราะเข้าถึงสิ่งล่อตาล่อใจได้ง่าย (ลองเปิดดูในเฟสบุคสิ ว่ามีร้านบุฟเฟ่ต์น่าทานกี่ร้านบ้างล่ะ แค่นี้ก็อดใจไม่ไหวแล้ว)
ประมาณการยอดเงินเก็บของชาวมิลเลนเนี่ยลอยู่ที่ 5.6% ต่อเดือน ซึ่งถือว่าต่ำกว่าปริมาณขั้นต่ำที่สถาบันการเงินแนะนำ (10% ต่อเดือน) และที่ดินก็มีราคาแพงขึ้นมาก จากเหตุผลหลายประการ เช่น ความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น การกว้านซื้อโดยนายทุนจากต่างประเทศ หรือความคาดหวังต่อโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล
ในยุคของคุณพ่อคุณแม่ การซื้อบ้านเป็นความฝันลำดับแรกๆของใครหลายคน แต่ในปัจจุบัน มิลเลนเนี่ยลที่มีความฝันเดียวกันนี้ อาจจะต้องรอไปจนถึงช่วงอายุ 40 ปลายๆ กว่าจะได้ลงหลักปักฐานกับบ้านในฝันซักหลัง
ในทางกลับกันมิลเลนเนี่ยลหลายคนก็ไม่เคยคิดจะซื้อบ้านเป็นของตัวเอง ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น ราคาบ้านแพงขึ้น ความมั่นคงในหน้าที่การงานลดลง (ต้องยอมรับว่าบริษัทใหญ่ในปัจจุบัน สามารถถูกบริษัทใหม่ๆขึ้นมาแข่งขันจนเอาชนะไปได้ทุกเมื่อ) มิลเลนเนี่ยลหลายคนเป็นฟรีแลนซ์ หรือทำงานอิสระ และหนึ่งในความฝันสูงสุดของชาวมิลเลนเนี่ยล คือ “การเดินทางรอบโลก” ซึ่งจะทำให้บ้านกลายเป็นภาระแทน
เมื่อไม่อยากซื้อบ้าน มิลเลนเนี่ยลจึงหมดเงินไปกับค่าเช่าที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก เมื่อคนอยากเช่าบ้านกันมากขึ้น ค่าเช่าบ้านก็สูงตามไปด้วย เงินเก็บของมิลเลนเนี่ยลจึงถูกผลาญไปกับค่าเช่าพอสมควร
ด้านมืดของการเสพข้อมูลข่าวสารได้ง่ายเกินไป คือ มิลเลนเนี่ยลมีแนวโน้มที่จะเชื่อสิ่งที่ได้เห็น ได้อ่าน หรือได้ฟังจากโลกออนไลน์ได้ง่าย
ทุกวันนี้มีเรื่องราวการประสบความสำเร็จ แชร์ถึงกันไม่เว้นแต่ละวัน ผู้คนกลายเป็นเศรษฐีกันได้ในชั่วข้ามคืน เรื่องราวเหล่านี้ดึงดูดความสนใจของผู้เสพข่าวได้ง่าย ในขณะที่เรื่องราวแห่งความล้มเหลว หรือการฝ่าฟันช่วงเวลาที่ตกต่ำถูกย่อให้เหลือเนื้อความแค่ช่วงสั้นๆ จนยากเกินกว่าที่ผู้เสพข่าวสารจะนึกภาพออก
แต่ในความเป็นจริง สถิติในปี 2016 จากธนาคารสำรองของรัฐบาลกลางสหรัฐชี้ให้เห็นว่า ความมั่งคั่งของชาวมิลเลนเนี่ยลต่ำกว่ารุ่นคุณพ่อคุณแม่เมื่อปรับค่าเงินเพื่อเปรียบเทียบ ถึงประมาณ 34% ส่งผลให้มิลเลนเนี่ยลเป็นกลุ่มที่ฟื้นกลับจากวิกฤตเศรษฐกิจได้ช้าที่สุด
การรักษาพยาบาลที่ก้าวหน้าขึ้นกว่าเดิม ส่งผลให้อายุเฉลี่ยของมนุษย์เพิ่มขึ้น ในยุค 1980 อายุเฉลี่ยของมนุษย์ทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 60 ปี ในขณะที่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 70 กว่าปีแล้ว
นั่นนับเป็นเรื่องที่ดี และชี้ให้เห็นการพัฒนาทางการแพทย์ แต่ในอีกทางหนึ่ง ภาระในการดูแลผู้สูงอายุก็มาตกอยู่ในมือของมิลเลนเนี่ยลเช่นกัน
สถิติจาก “Global Initiative Embracing Carers” ชี้ให้เห็นว่า มิลเลนเนี่ยลใช้จ่ายเงินเพื่อดูแลผู้สูงอายุมากกว่าคนยุคอื่นๆในสถานการณ์เดียวกันถึง 27% เพราะการดูแลผู้สูงอายุในปัจจุบัน อาจต้องใช้เงินสูงราว 500,000 ถึง 3,000,000 บาทต่อปี (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ผู้สูงอายุมีสุขภาพไม่แข็งแรง)
ในอีกด้านหนึ่ง มิลเลนเนี่ยลกลับกลายเป็นคนหนุ่มสาว ที่ต้องพึ่งพารายได้จากการขอเงินพ่อแม่มากกว่ายุคก่อนๆ
สถิติจาก “Country Financial Security Index” ของสหรัฐฯ ชี้ให้เห็นว่าชาวอเมริกันอายุ 21 ถึง 37 ปี กว่าครึ่งมีปัญหาเรื่องสภาพคล่องทางการเงิน และต้องขอเงินจากคุณพ่อคุณแม่ สำหรับการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำมัน การซื้อเสื้อผ้า ไปจนถึงค่าเช่าบ้าน
มิลเลนเนี่ยลกำลังจะเกษียณอายุในอีก 30-40 ปีข้างหน้า เมื่อคำนวณอัตราเงินเฟ้อ ร่วมกับค่าครองชีพที่พุ่งขึ้นราวกับจรวด ประมาณการณ์กันว่า หากมิลเลนเนี่ยลเก็บเงินได้ 1 ล้านบาทตอนเกษียณ เงินนั้นจะมีค่าราว 3 แสนบาทในปัจจุบัน หรือประมาณ 1 ใน 3 เท่านั้น ดังที่เกร็ก แม็คบริดจ์ (Greg Mcbridge) หัวหน้านักวิเคราะห์ทางการเงินที่ Bankrate กล่าวไว้ว่า “มิลเลนเนี่ยล จะเป็นกลุ่มคนที่ต้องมีเงินหลังเกษียณสูงกว่าคนยุคไหนๆ”
เมื่อรวมกับปริมาณเงินฝากที่ไม่สูงนัก มิลเลนเนี่ยลดูจะต้องดิ้นรนในตลาดการแข่งขันเสรี เพื่อเพิ่มรายได้ให้มากขึ้น หากต้องการมีเงินเกษียณเพียงพอต่อวิถีชิวิตสุขนิยมที่เป็นอยู่
ความลำบากทางการเงินทั้ง 7 อย่างของมิลเลนเนี่ยลอาจดูร้ายแรงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน แต่อย่าลืมว่าในยุคก่อนนี้ ก็มีปัญหาทางการเงินที่ยุคก่อนหน้านั้นไม่เคยมีเช่นกัน พี่ทุยว่าการฝ่าฟันความยากลำบากอาจขึ้นอยู่กับมุมมองที่มีต่อปัญหาตรงหน้า ยิ่งเป็นเรื่องปัญหาทางการเงิน คำแนะนำสุดคลาสสิคคงหนีไม่พ้นปรัชญาการดำเนินชีวิตตามเศรษฐกิจพอเพียง ดังที่พ่อหลวงรัชกาลที่ 9 ทิ้งไว้เป็นมรดกให้เราชาวไทยเรา มีน้อยใช้น้อย มีมากเก็บหอมรอมริบ และพี่ทุยหวังว่ามิลเลนเนี่ยลทุกคนจะเห็นถึงความสำคัญ และศึกษาเรื่องการเงินการลงทุน เพื่อสร้างอนาคตที่สดใสให้ตัวเอง และประเทศชาติต่อไป
บทความโดย: https://www.moneybuffalo.in.th