ลูกหนี้การค้า กับดักสภาพคล่องของ SMEs

ลูกหนี้การค้า กับดักสภาพคล่องของ SMEs

       การให้เทอมการค้ากับลูกค้า นับว่าเป็นเรี่องปกติของการค้าขายในประเทศไทย   และยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแข่งขันกับคู่แข่งขันในตลาดอีกด้วย   เทอมการชำระเงินก็แตกต่างกันไปแล้วแต่ประเภทสินค้า โดยทั่วไปสินค้าประเภทที่แทบไม่มีความแตกต่างกันเลย  เช่น น้ำมัน เม็ดพลาสติก หรือสินค้าประเภทหมุนเวียนเร็ว เช่น สินค้าเกษตร สินค้าอุปโภคบริโภค มักจะมีเทอมการชำระเงินที่สั้น หรือ ซื้อขายด้วยเงินสด ในขณะที่สินค้าบางประเภทที่มีลักษณะเฉพาะและหมุนเวียนช้า เช่น สินค้าเคมีบางประเภท  หรือ อุปกรณ์อะไหล่ เครื่องจักรการเกษตร อาจมีเทอมการชำระเงินยาวถึง 120-180 วัน

การให้เทอมการค้ากับลูกค้าเปรียบเสมือนการให้สินเชื่อกับลูกค้า  ซึ่งส่งผลต่อผู้ประกอบการ SMEs ทั้งการที่เงินทุนหมุนเวียนจมอยู่กับบัญชีลูกหนี้การค้าและความเสี่ยงที่ลูกหนี้การค้าไม่สามารถชำระค่าสินค้าได้   เรื่องที่ผู้ประกอบการบางคนไม่ได้นึกถึงคือ ปัญหาเงินทุนหมุนเวียนจะตามมาเมื่อยอดขายเพิ่มขึ้น  เนื่องจากจำเป็นต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนมากยิ่งขึ้น เพราะเงินทุนหมุนเวียนเหล่านั้นได้จมอยู่กับบัญชีลูกหนี้ ซึ่งมีจำนวนมากขึ้นเป็นเงาตามตัวกับยอดขายที่สูงขึ้นนั่นเอง  

ปัญหาจะขยายตัวใหญ่ขึ้นกับผู้ประกอบการที่ต้องการแข่งขันกับคู่แข่งโดยการขยายเทอมการชำระเงินให้กับผู้ซื้อเพื่อที่จะเพิ่มยอดขาย ก็จะต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนไปกับบัญชีลูกหนี้การค้ามากขึ้น  จึงเป็นที่น่าเสียดายที่ผู้ประกอบการ SMEs หลายๆคนติดกับดักสภาพคล่องเหล่านี้ และไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้  ทั้งๆที่เห็นโอกาสทางธุรกิจที่จะเติบโต 

ปัญหาอีกประการที่ไม่สามารถละเลยได้ คือ ความเสี่ยงของลูกหนี้การค้า ซึ่งทำให้ห่วงหน้าพะวงหลังในการเพิ่มยอดขายกับผู้ซื้อแต่ละคน แน่นอนว่าผู้ประกอบการ SMEs มีสายป่านที่ไม่ยาวเท่ากับผู้ประกอบการรายใหญ่ ดังนั้นถ้าผู้ซื้อซึ่งเป็นลูกหนี้การค้ารายใหญ่ประสบปัญหาการชำระหนี้แล้ว  ก็มักจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของธุรกิจด้วย

เมื่อเข้าใจปัญหาของผู้ประกอบการ  SMEs ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น  เป็นหน้าที่ของธนาคารด้วยเช่นกันที่ต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่ออุดช่องว่างปัญหาที่เกิดขึ้น โดยตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่มีการเปิดให้บริการไปแล้ว อาทิ “Supply Chain Solution” ก็เป็นตัวที่ธนาคารขยายบริการด้านสินเชื่อในหลายรูปแบบให้กับทั้ง supplier และ/หรือลูกค้าของผู้ประกอบการ  

เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการชำระเงินของลูกหนี้การค้าไม่ว่าผู้ซื้อนั้นจะเป็นรายเล็กหรือรายใหญ่  และในขณะเดียวกันก็ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจ โดยการให้เงินทุนหมุนเวียนจากธนาคารไปทดแทนบัญชีลูกหนี้การค้า ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถก้าวข้ามกับดักสภาพคล่องนี้และมีการเติบโตอย่างยั่งยืนได้

บทความโดย: http://www.thaifranchisecenter.com

 977
Visitor
Get started for free today. Free Trial
Create a website for free Online Stores