ตำแหน่งผู้ช่วยผู้ทำบัญชีและผู้สอบบัญชีจะขึ้นอยู่กับแต่ละสำนักงานบัญชี บางทีก็รับหน้าที่แค่ทำบัญชีก็จะเป็นผู้ช่วยผู้ทำบัญชีเท่านั้น
หน้าที่รับผิดชอบของตำแหน่งนี้ ก็คือ บันทึกบัญชีของลูกค้าตามหลักฐานการรับ จ่ายเงินที่ได้รับมาจากลูกค้าให้ถูกต้อง จัดทำภาษียื่นส่งสรรพากรรวมถึงการนำส่งประกันสังคมในแต่ละเดือนให้กับลูกค้า ทำการปรับปรุงรายการบัญชีรายเดือน เตรียมข้อมูลประกอบงบการเงินรายปี ร่างงบการเงินรายปี เตรียมแบบภาษีปลายปี ทำแบบนำส่งเงินสมทบประกันสังคมและแบบนำส่งเงินเดือนรายปี อันนี้เป็นส่วนของผู้ช่วยผู้ทำบัญชี
แต่ถ้ารับหน้าที่เป็นผู้ช่วยสอบบัญชีดวยก็จะมีหน้าที่รับผิดชอบเพิ่มขึ้นมาอีก คือ การเตรียมกระดาษทำการสอบบัญชีแล้วตรวจร่างงบการเงินที่คนอื่นส่งมาให้สำนักงานบัญชีของเราสอบบัญชี
ขั้นตอนการทำงานของผู้ช่วยผู้ทำบัญชีและผู้สอบบัญชีก็จะเริ่มจากการติดตามรวบรวมเอกสารที่เป็นหลักฐานการเงินของบริษัทลูกค้า พอได้รับมาแล้วเราก็จะมาแกะเอกสารเพื่อเรียงและเช็คดูว่ามีเอกสารอะไรบ้าง จากนั้นก็จะนำเอกสารมาแยกเป็นเอกสารซื้อกับเอกสารขาย เมื่อจัดการเอกสารเสร็จแล้วเราก็จะบันทึกข้อมูลบัญชีตามเอกสารที่เราแยกไว้ รวมถึงจดโน้ตมูลค่าภาษี vat และ หัก ณ ที่จ่าย ด้วย
โดยมูลค่า vat และ หัก ณ ที่จ่าย ที่โน้ตไว้ เราจะทำการบันทึกใส่แบบฟอร์มซึ่งเดี๋ยวนี้ก็จะเป็นฟอร์มทางอินเทอเน็ต (ยื่นออนไลน์) เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการทำงาน ซึ่งเราก็จะทำอย่างนี้กับเอกสารของทุกบริษัทในทุกๆ เดือน
อาชีพผู้ช่วยก็จะทำงานรวมกับเจ้าหน้าที่บัญชีและผู้สอบบัญชี (ที่เป็นหัวหน้าของเขา) นอกจากนี้ก็อาจจะประสานงานกับเมสเซนเจอร์ที่รับส่งเอกสารหลักฐานการเงินของบริษัทลูกค้าให้ไปรับ มาส่ง ตรงตามช่วงเวลาที่ต้องการทำงาน
อาชีพนี้ก็จะทำงานอยู่ในสำนักงานบัญชีซึ่งก็จะมีหลายขนาดตั้งแต่ขนาดที่เล็กมาก ทำงานแค่ 2-3 คน และสำนักงานบัญชีขนาดกลาง ไปจนถึงสำนักงานบัญชีขนาดใหญ่ที่เป็นบริษัทนานาชาติ
อาชีพผู้ช่วยผู้ทำบัญชีและผู้สอบบัญชีโดยปกติจะทำงานวันละ 8 ชั่วโมง โดยอาจจะเริ่มงานตั้งแต่ 8 โมง หรือ 9 โมง เช้า ไปจนถึงเวลาเลิกงาน คือ 16.00 น. หรือ 17.00 น. (ขึ้นอยู่กับเวลาเข้างาน และขึ้นอยู่กับข้อตกลงของแต่ละสำนักงานบัญชี)
และโดยส่วนมากอาชีพนี้จะมีการทำงานในวันเสาร์ด้วย หรือถ้าเป็นช่วงที่ยุ่งมากๆ (ช่วงที่ทุกบริษัทต้องปิดงบการเงินเพื่อส่งงบ) ก็จะมีการทำ OT เป็นปกติ
ควรจะต้องเป็นคนที่มีความสามารถในการจัดการทั้งจัดการสิ่งที่อยู่ข้างนอกตัวเรา เช่น เอกสารต่าง และสิ่งที่อยู่ในหัวของเรา เช่น ลำดับขั้นตอนการทำงาน, ลำดับวิธีการคิดเพื่อแก้ไขปัญหา/สิ่งที่เกิดขึ้น เป็นต้น
นอกจากนี้ควรจะมีความพลิกแพลงในการรับมือสถานการณ์หรือไขปัญหาเพื่อจัดการกับภาระงานที่ค่อนข้างแน่นและรายละเอียดทางบัญชีที่มีความละเอียดมาก
ส่วนความรู้ที่ควรจะต้องมี ก็คือ ความรู้ด้านบัญชีและภาษีที่ควรจะรู้ให้กว้างๆ เพราะในสำนักงานบัญชีจะมีสิ่งที่สำคัญที่ต้องทำก็คือ การควบคุมเรื่องภาษีให้กับลูกค้าเป็นหลัก
นอกจากนี้ทักษะอื่นๆ ก็คือ ความสามารถในการใช้โปรแกรม Microsoft word และ Microsoft exel
คุณค่าของอาชีพนี้ที่มีต่อตัวผู้ประกอบอาชีพ ก็คือ การฝึกฝนเรื่องระบบการคิด การทำงาน เพราะอาชีพนี้เป็นอาชีพที่ต้องใช้การบริหารจัดการตลอดเพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น
ผลที่เกิดกับบริษัท องค์กร หรือสังคม ของอาชีพในสายบัญชี ก็คือ การเป็นคนที่คอยช่วยบันทึก ควบคุม และเก็บรายละเอียดต่างๆ ที่บางทีหลุดออกนอกทางหรือถูกลืมทิ้งไว้ ให้กลับมาเข้าที่เข้าทางเป็นระบบระเบียบตามกฎกติกาได้
นอกจากนี้สายงานบัญชียังเปรียบเสมือนคู่คิดของผู้บริหาร ไม่ว่าผู้บริหารจะทำอะไร บริษัทต้องการจะไปทางไหน ก็จะต้องมีนักบัญชีที่คอยวิเคราะห์ข้อมูล แสดงผลการเงินให้กับผู้บริหาร
ผลเสียต่อสุขภาพจากอาชีพนี้ก็จะมีในช่วงที่งานเร่งๆ ที่จะต้องทำงานมากมายหมาศาลให้เสร็จภายในเวลาอันน้อยนิด การพักผ่อนก็จะน้อยลง
การเติบโตในสายงานบัญชีของผู้ช่วยผู้ทำบัญชีและผู้สอบบัญชี สามารถที่จะขยับเติบโตขึ้นไปเป็นผู้ทำบัญชี ขยับไปเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตได้เมื่อเก็บประสบการณ์ได้มากพอและสอบผ่านได้รับใบอนุญาต
โดยคนที่จะสอบเป็นผู้สอบบัญชีได้ก็จะต้องเป็นคนที่เรียนจบมาในสายบัญชี (มีใบปริญญาหรือใบประกาศณียบัตรสาขาบัญชี) ต้องเก็บชั่วโมงทำงานประมาณ 3 ปี
สายอาชีพบัญชีเป็นอาชีพที่ต้องการการศึกษาเฉพาะทาง ถ้าจะขยับขึ้นไปเป็นหัวหน้าหรือผู้สอบบัญชีรับอนุญาตก็จะต้องมีการขึ้นทะเบียนซึ่งต้องมีใบประกอบวิชาชีพที่ต้องมีคุณสมบัติสำคัญคือมีปริญญาหรือใบประกาศณียบัตรในวิชาการบัญชีเท่านั้น
แต่ถ้าเป็นผู้ช่วยผู้ทำบัญชีและผู้สอบบัญชีก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเรียนตรงสายมาขอแค่สามารถทำงานตามที่ระบุไว้ของแต่ละสำนักงานได้ก็จะสามารถบรรจุเข้าทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยได้
ส่วนข้อมูลความรู้ที่หาด้วยตัวเองได้ สามารถหาได้จากหนังสือหรืออินเทอเน็ตก็มีให้อ่านค่อนข้างเยอะ หรือจะเลือกสมัครเข้าฝึกงานตามสำนักงานบัญชีก็ได้เพราะสำนักงานบัญชีก็จะรับเด็กฝึกงานตลอด
บทความโดย : www.a-chieve.org